เอสเธอร์ 9
1. วันที่สิบสามเดือนสิบสอง หรือเดือนอาดาร์ เมื่อจะต้องปฏิบัติตามพระบัญชาของกษัตริย์ และพระราชกฤษฎีกาจะมีผลใช้บังคับ วันที่ศัตรูของชาวยิวหวังจะปราบเขา เหตุการณ์ตรงกันข้ามก็เกิดขึ้น ชาวยิวกลับปราบพวกที่เกลียดชังเขา
2. ชาวยิวชุมนุมกันตามเมืองต่างๆ ในทุกแคว้นของกษัตริย์อาหสุเอรัสเพื่อจะทำลายผู้พยายามทำร้ายเขา ไม่มีผู้ใดต่อต้านเขาได้ เพราะประชาชนทั้งหลายกลัวชาวยิว
3. บรรดาเจ้านายผู้ปกครองแคว้นต่างๆ บรรดาผู้ว่าราชการแคว้น ผู้ว่าราชการภาคและข้าราชการอื่นๆ ก็ช่วยชาวยิวด้วย เพราะกลัวโมรเดคัย
4. โมรเดคัยมีอำนาจยิ่งใหญ่ในราชสำนักและชื่อเสียงของเขาเลื่องลือไปทั่วทุกแคว้น เขามีอำนาจมากยิ่งขึ้นทุกที
5. ชาวยิวใช้ดาบฆ่าฟันทำลายศัตรูทุกคน เขาทำแก่ผู้ที่เกลียดชังเขาตามใจชอบ
6. ในนครสุสาชาวยิวฆ่าและทำลายล้างศัตรูห้าร้อยคน
7. ฆ่าปารชันดาธา ดาลโฟน อัสปาธา
8. โปราธา อาดัลยา อารีดาธา
9. ปารมัชทา อารีสัย อารีดัย และไวซาธา
10. คนเหล่านี้ทั้งสิบคนเป็นบุตรชายของฮามาน บุตรของฮัมเมดาธา ศัตรูของชาวยิว แต่ชาวยิวไม่ได้ปล้นทรัพย์สินของผู้ใด
11. วันนั้นมีผู้ไปทูลกษัตริย์ให้ทรงทราบจำนวนคนที่ถูกฆ่าในนครสุสา
12. กษัตริย์จึงตรัสกับพระราชินีเอสเธอร์ว่า “ในนครสุสา ชาวยิวฆ่าและทำลายศัตรูถึงห้าร้อยคน ฆ่าบุตรชายทั้งสิบคนของฮามานด้วย แล้วในแคว้นอื่นๆ ในอาณาจักรเขาคงจะได้ฆ่าอีกจำนวนมาก บัดนี้ เธอจะขออะไรอีก เราก็จะให้ เธอจะขออะไร เราก็จะทำ”
13. พระนางเอสเธอร์จึงทูลว่า “ถ้าพระองค์พอพระทัย ขอให้ชาวยิวในนครสุสาได้รับอนุญาตให้ทำตามพระราชกฤษฎีกาของวันนี้ในวันพรุ่งนี้อีก และขอให้ศพบุตรชายทั้งสิบคนของฮามานถูกแขวนไว้บนตะแลงแกง”
14. กษัตริย์ทรงบัญชาให้ทำเช่นนั้น พระราชกฤษฎีกาถูกประกาศในนครสุสา ศพของบุตรชายทั้งสิบคนของฮามานจึงถูกแขวนบนตะแลงแกง
15. ชาวยิวที่อยู่ในนครสุสามาชุมนุมกันอีกในวันที่สิบสี่เดือนอาดาร์ และฆ่าศัตรูสามร้อยคนในนครสุสา แต่ไม่ได้ปล้นทรัพย์สินของเขา
16. ชาวยิวอื่นๆ ซึ่งอยู่ในแคว้นต่างๆ ของกษัตริย์ก็ชุมนุมกันป้องกันชีวิตของตน และมีความปลอดภัยจากศัตรู เขาฆ่าผู้ที่เกลียดชังเขาจำนวนเจ็ดหมื่นห้าพันคน แต่ไม่ได้ปล้นทรัพย์สิน
17. เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นวันที่สิบสามเดือนอาดาร์ และวันที่สิบสี่เขาก็หยุดฆ่า และทำวันนั้นให้เป็นวันกินเลี้ยงและยินดี
18. แต่ชาวยิวในนครสุสาชุมนุมกันฆ่าศัตรูในวันที่สิบสามและวันที่สิบสี่ แล้วหยุดฆ่าในวันที่สิบห้า ทำให้วันนั้นเป็นวันกินเลี้ยงและยินดี
19. ดังนั้นชาวยิวในชนบท ซึ่งอยู่ตามหัวเมืองที่ไม่มีกำแพงล้อมถือวันที่สิบสี่เดือนอาดาร์เป็นวันยินดีจัดงานเลี้ยงและเป็นวันฉลอง เป็นวันที่เขาส่งอาหารเป็นของขวัญให้แก่กัน
20. โมรเดคัยบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ และส่งจดหมายไปยังชาวยิวทั้งหลายที่อยู่ในแคว้นต่างๆ ของกษัตริย์อาหสุเอรัสทั้งใกล้และไกล
21. สั่งเขาทั้งหลายให้ถือวันที่สิบสี่และวันที่สิบห้าเดือนอาดาร์เป็นวันฉลองทุกๆ ปี
22. เพราะเป็นวันที่ชาวยิวปลอดภัยจากศัตรู และเป็นเดือนที่ความเศร้าโศกเปลี่ยนเป็นความยินดี และวันไว้ทุกข์เปลี่ยนเป็นวันฉลอง ทุกคนจะต้องยินดีจัดงานเลี้ยงและส่งอาหารเป็นของขวัญให้แก่กัน และให้ทานแก่คนยากจน
23. ชาวยิวจึงปฏิบัติธรรมเนียมที่เริ่มนี้ต่อไปตามที่โมรเดคัยเขียนไปถึงเขา
24. ว่า “ฮามาน บุตรของฮัมเมดาธาชาวอากัก ศัตรูของชาวยิวทั้งหลายปองร้ายต่อชาวยิวเพื่อทำลายล้างเขา ฮามานได้จับ ‘ปูร์’ คือ ‘สลาก’ เพื่อกำหนดวันที่จะต้องล้างผลาญและทำลายเขา
25. แต่เมื่อพระนางเอสเธอร์ทรงเข้าเฝ้ากษัตริย์ พระองค์รับสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้แผนการมุ่งร้ายของฮามาน ซึ่งเขาคิดทำกับชาวยิวกลับตกลงบนศีรษะของเขา และรับสั่งให้ฮามานกับบุตรถูกแขวนบนตะแลงแกง
26. ดังนั้น วันเหล่านี้จึงได้ชื่อว่า ‘ปูริม’ จากคำว่า ‘ปูร์’ ซึ่งแปลว่า ‘สลาก’ เพราะข้อความที่เขียนไว้ในจดหมายนี้ และจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น
27. ชาวยิวจึงกำหนดเป็นข้อปฏิบัติสำหรับตนเอง สำหรับลูกหลานและทุกคนที่เข้ามารับนับถือลัทธิยิว ว่าจะต้องฉลองทั้งสองวันนี้อย่างเคร่งครัดทุกปีมิได้ขาด ตามข้อกำหนดและตามเวลาที่เขียนไว้
28. ชาวยิวทุกครอบครัว ทุกสมัย จะต้องระลึกถึงและฉลองวันเหล่านี้ในทุกแคว้นและทุกเมือง เขาจะต้องไม่เลิกฉลองวันปูริมนี้ และลูกหลานของเขาจะต้องระลึกถึงวันเหล่านี้ตลอดไป”
29. พระราชินีเอสเธอร์ ธิดาของอาบีฮาอิล ทรงพระอักษรอีกฉบับหนึ่ง พร้อมกับจดหมายของโมรเดคัยชาวยิว เพื่อรับรองวันฉลองปูริมนี้ด้วย
30. โมรเดคัยส่งจดหมายทั้งสองฉบับไปถึงชาวยิวซึ่งอยู่ในหนึ่งร้อยยี่สิบเจ็ดแคว้นของอาณาจักรของกษัตริย์อาหสุเอรัส อวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข
31. และให้ฉลองวันปูริมเหล่านี้ในเวลากำหนด ตามคำสั่งของโมรเดคัยชาวยิว และตามพระเสาวนีย์ของพระราชินีเอสเธอร์ และตามที่ชาวยิวเคยวางกฎไว้สำหรับตนเองและลูกหลานเกี่ยวกับวันจำศีลอดอาหารและวันไว้ทุกข์
32. พระเสาวนีย์ของพระราชินีเอสเธอร์กำหนดระเบียบการฉลองวันปูริมและบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร